วันศุกร์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

ผลกระทบต่อสุขภาพจากกากขยะอุตสาหกรรมที่ปนเปื้อนในพื้นที่

       จากเหตุการณ์การลักลอบทิ้งการขยะอุตสาหกรรม พื้นที่ตำบลหนองแหน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา จนเป็นสาเหตุของการเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ประเด็นที่เห็นเด่นชัดคือการปนเปื้อนของสารพิษลงสู่นํ้าใต้ดินและส่งผลต่อการใช้นํ้าในการอุปโภคบริโภคของประชาชน ตลอดจนผลกระทบต่อการปศุสัตว์ ที่ทำให้เกิดการแท้งลูกของสุกรในเกษตรกรของฟาร์มสุกรหลายแห่งในพื้นที่ จึงเป็นสาเหตุของการเกิดความวิตกกังวลว่าการปนเปื้อนของสารพิษนั้น จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพหรือไม่ อย่างไรและรุนแรงเท่าใด โดยผลจากการพิสูจน์ชนิดของสารพิษที่ปนเปื้อนในขั้นต้น พอที่จะสรุปได้ถึงสารพิษที่พบส่วนใหญ่เป็นสารพิษในกลุ่มของสารพิษที่ใช้ในอุตสาหกรรมพลาสติก ซึ่งชนิดที่พบในปริมาณที่มากที่สุด ได้แก่ พีนอล (phenol) และบิสฟีนอล เอ (Bis-phenol A) จากการวิเคราะห์พบว่ามีค่าสูงเกินกว่าค่ามาตรฐานนํ้าดื่มประมาณ 250 เท่าและบางจุดพบสูงกว่าค่ามาตรฐานถึง 500 เท่า ซึ่งระดับการปนเปื้อนที่พบนี้ มีความเสี่ยงสูงต่อสุขภาพ หากมีการนำนํ้ามาใช้ในการอุปโภค บริโภค

ฟีนอล เข้าสู่ร่างกายได้อย่างไร?
       จากการประเมินลักษณะของการสัมผัสของประชาชนในพื้นที่หนองแหนนั้น โอกาสในการรับสัมผัสได้มากที่สุดคือ การสัมผัสผ่านทางผิวหนังในกรณีที่ใช้นํ้าที่มีการปนเปื้อนและการกิน/ดื่มนํ้าที่มีการปนเปื้อน เนื่องจากฟีนอลที่พบที่หนองแหน มักพบในแหล่งนํ้าซึ่งสามารถระเหยได้น้อยมาก ฟีนอลและบิสฟีนอล เอ มีโอกาสที่จะเกิดการสะสมในห่วงโซ่อาหารได้ โดยเฉพาะในสัตว์ที่พบว่าฟีนอลสามารถพบการตกค้างและสะสมในสัตว์นํ้าและบิสฟีนอล เอ สามารถพบหลักฐานการตกค้างในสัตว์หลายชนิด แต่ในพืชอาหารยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนถึงการตกค้างจากการปลูกแหล่งปนเปื้อน

ผลกระทบที่สามารถพบได้ จากสารพิษที่ปนเปื้อน
       กลุ่มประชากรที่ไวต่อการตอบสนองของการได้รับผลกระทบจากฟีนอล และบิส ฟีนอล เอ คือกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ที่สารประกอบทั้งสองชนิดนี้ สามารถเกิดพิษต่อการเจริญพันธุ์ ซึ่งสามารถส่งผลต่อทารกในครรภ์ที่ระดับการสัมผัสในพื้นที่หนองแหนนี้ อาจส่งผลต่อนํ้าหนักตัวของทารกในครรภ์ และ บิสฟีนอล เอ ส่งผลต่อความผิดปกติของสมอง พฤติกรรมและการเป็นหนุ่มเป็นสาวที่เร็วกว่าปกติในเด็กได้ ดังนั้นหญิงตั้งครรภ์และเด็กจึงเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สูงกว่าในผู้ใหญ่ สำหรับผู้ที่รับสัมผัสผ่านทางผิวหนัง มักจะพบอาการระคายเคืองบริเวณที่สัมผัส

แล้วเราควรทำอะไรต่อไป เพื่อลดความเสี่ยงและจัดการกับผลกระทบ จนทำให้ความเสี่ยงลดลงจนอยู่ระดับปกติ
       เนื่องจากการตรวจติดตามปริมาณของการปนเปื้อนฟีนอลและบิสฟีนอล เอ รวมทั้งสารพิษชนิดอื่น ยังจำเป็นต้องตรวจสอบระดับที่ปนเปื้อนอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นยังจำเป็นต้องอาศัยข้อมูลการตรวจติดตาม ทางสิ่งแวดล้อม การฟื้นฟูให้สารพิษอยู่ในระดับที่ปลอดภัย การดำเนินการที่ได้ลงมือทำในพื้นที่ ได้แก่ การติดตั้งระบบการกำจัดฟีนอลในน้ำ เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยแล้วนั้นก็เป็นการดำ เนิน การเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า อย่างไรก็ตาม กิจกรรมที่จำเป็นต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องคือการดำเนินการตรวจสอบคุณภาพน้ำว่ายังอยู่ในระดับที่ปลอดภัยหรือไม่ รวมทั้งการประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพของกลุ่มเสี่ยงต่างๆ ในพื้นที่ด้วย



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น